ยังคงปฎิบัติหน้าที่ทูตพิเศษของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สำหรับนักแสดงหญิงคนดัง “แองเจลีนา โจลี่” ที่ล่าสุดเพิ่งเผยภาพตอนไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศปากีสถาน ผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวของเธอที่มีผู้ติดตามกว่า 13.8 ล้านคน
โจลี่อัพรูปลงไอจีทั้งหมด 3 รูป เป็นรูปเธอกำลังมองออกไปนอกหน้าต่างเครื่องบินหนึ่งรูป และรูปน้ำท่วมสองรูป พร้อมกับเขียนข้อความเอาไว้ยาวเหยียดว่า
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วฉันอยู่ที่ปากีสถานกับ @rescueorg และหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่ง เพื่อไปดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งรุนแรงที่ทำให้พื้นดินของประเทศถึง 1/3 จมอยูใต้น้ำ

ประชาชน 33 ล้านคนได้รับผลกระทบ กว่า 6 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยชนอย่างเร่งด่วน
ปากีสถานยังให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันกว่า 1 ล้านคนซึ่งไม่สามารถกลับบ้านอย่างปลอดภัยเนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผู้คนที่ฉันสามารถเข้าถึงได้ยังตกอยู่ในความช็อคจากการหนีตายมาจากกลุ่มตาลีบัน แล้วตอนนี้ก็ต้องมารับรู้ว่าประเทศที่พวกเขาหนีมาอาศัยตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ระดับความบอบช้ำทางจิตใจ และความบอบช้ำที่เพิ่มขึ้นมันรุนแรง ได้โปรดเรียนรู้และติดตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น โปรดระวังหายนะทางสภาพอากาศที่พวกเราประสบกันให้บ่อยขึ้น
ช่วยกันผลักดันรัฐบาลต่างๆ ให้เข้าใจว่า การปราศจากการค้าที่เป็นธรรม การปล่อยของเสียเพิ่มขึ้น และการไม่พูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต่างเป็นสาเหตุให้เกิดความตาย และความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นแก่หลายล้านครอบครัวทั่วโลก”

แองเจลีนา โจลี่ ปิดท้ายด้วยการติดแฮชแท็ก #Pakistan #Floods #PakistanFloods #WithRefugees พร้อมให้เครดิตคนถ่ายรูป andrewoberstadt
นักแสดงหญิงวัย 47 ปี เดินทางไปทริปนี้ร่วมกับ International Rescue Committee หน่วยงานด้านมนุษยชนที่คอยให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาทุกข์แก่ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากหายนะภัยต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในปากีสถานครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,100 คน จนนายกรัฐมนตรีปากีสถานประกาศว่าเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมานั้นมากกว่าปกติถึง 10 เท่า
ทั้งนี้ โจลี่ดำรงตำแหน่งทูตพิเศษของ UNHCR มาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว โดยก่อนหน้านี้เธอเดินทางลงพื้นเพื่อรับฟังปัญหาจากผู้ที่เดือดร้อนจริงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่ปรนะเทศเยเมน ยูเครน หรือแม้แต่ผู้ลี้ภัยชาวพม่าในประเทศไทย